17 กรกฏาคม 2566 บทความสัมภาษณ์ PiPPER STANDARD บนเว็บไซด์สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ชุมชนคนรักการอ่าน
7 กรกฏาคม 2566
บทความสัมภาษณ์ PiPPER STANDARD ในเว็บไซด์สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ชุมชนคนรักการอ่าน คอลัมน์ เรื่องเด่นประจำสัปดาห์
PiPPER STANDARD คือแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจากธรรมชาติที่ก่อตั้งโดย คุณศิริลักษณ์ ณรงค์ตะณุพล และ คุณปีเตอร์ เนลสัน เวียนแมน ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอาการแพ้สารเคมีที่อยู่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มของคุณปีเตอร์ จากที่ตั้งใจเพียงค้นหาต้นตอของสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นธุรกิจ และยังได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์แรกของโลกที่เอาน้ำหมักสับปะรดมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดด้วย แต่กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่าทั้งคู่ใช้เวลาลองผิดลองถูกมาไม่น้อยเลยทีเดียว
“มันเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่คุณปีเตอร์เขาแพ้ เขามาบอกว่าเขาใส่เสื้อแล้วคัน แต่ก็ไม่มีผื่นแดงอะไรขึ้นมาด้วยนะแต่เขาคัน ตอนแรกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาแพ้อะไร เราก็เอาเสื้อผ้าไปซักให้ใหม่ แต่ปรากฏว่าอาการคันมันก็ไม่หายสักที อาการจากผิวหนังก็เริ่มไปที่ระบบหายใจ เขามีอาการหืดหอบ เราก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่เล่นๆ แล้ว เราก็เลยเริ่มจะศึกษาหาข้อมูลจาก google อะไรต่างๆ แล้วก็มาดูว่าสินค้าหรือครีมกันแดดตัวไหนที่เขาใช้ได้หรือไม่ได้ คือตอนนั้นเราต้องจดหมดเลยว่าอันไหนเขาใช้ได้ไม่ได้ แล้วเราก็พยายามแมทช์ว่าส่วนผสมไหนเขาน่าจะแพ้ มันเป็นช่วงที่เราหากันหลายเดือนเหมือนกัน จนกระทั่งพบว่าเป็นน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้อยู่ในบ้าน เราก็โทรไปหา R&D แบรนด์นั้นเลย เพราะเราอยากจะรู้ว่าแฟนเราแพ้อะไรในน้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งเคมีมันเยอะมาก สิ่งที่เราทำต่อมาคือพยายามเอาน้ำยาปรับผ้านุ่มออกจากผ้าทั้งหมด พยายามเอาเคมีออกทั้งหมด ซึ่งมันยากมาก เพราะนอกจากเสื้อผ้าก็ยังมีผ้าอย่างอื่นที่เราใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มด้วย สุดท้ายก็เลยต้องทิ้งเสื้อผ้ากันไปคนละตู้เลยค่ะ”
สับปะรดคือตัวทำความสะอาดชั้นดีที่ธรรมชาติให้มา
“ช่วงนั้นเราพยายามที่จะหาอย่างอื่นมาใช้แทนน้ำยาซักผ้าหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม ตอนนั้นก็มีสินค้าทำความสะอาดที่ทำจากธรรมชาติที่ได้มาตรฐานอยู่บ้าง แต่เราก็ยังไม่มั่นใจในคุณภาพและความสะอาดมากนัก แล้วคือคุณปีเตอร์เขาจบ MIT ก็มีประสบการณ์ทางด้าน R&D อยู่ด้วย ก็เลยฟอร์มทีม R&D เล็กๆ ขึ้นมา เริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์กันเอง ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติ เราใช้เวลาศึกษากันเป็นปีๆ ซักผ้ากันเป็นพันๆ รอบ ตอนแรกที่ทดลองก็มีทั้งมะนาว ส้ม กระเจี๊ยบ มะขาม กล้วย ก็คือพยายามดูว่าอะไรที่จะเป็นสารทำความสะอาดที่ดี จนตอนหลังเลยมาพบว่าการที่เราหมักสับปะรดด้วยแลคโตบาซิลัสหรือจุลินทรีย์ที่ดีที่พบได้ในโยเกิร์ตเนี่ย มันสามารถเปลี่ยนน้ำตาลในผลไม้ให้เป็นสารทำความสะอาดธรรมชาติ ช่วยในการทำความสะอาดโดยที่ทำให้เราไม่ต้องไปเติมพวกเคมีรุนแรง แล้วอีกอย่างก็คือเรื่องกลิ่นกับสี เพราะพอเราหมักสับปะรดแล้วสีมันจะเป็นเหมือนสีของน้ำผึ้ง กลิ่นก็เป็นอะไรที่หอมหวาน บางทีคนดมกลิ่นผลิตภัณฑ์ของ PiPPER ก็จะบอกว่ามันเป็นกลิ่นหมักๆ อาจเพราะเขายังไม่รู้สึกคุ้นชินกับกลิ่นนี้ แต่เราว่าสับปะรดสำหรับจมูกของเราน่าจะเป็นอะไรที่คุ้นชินที่สุดแล้ว”
ทดสอบผลิตภัณฑ์หลายครั้งจนมั่นใจว่าปลอดภัยที่สุด
“โจทย์ของเราคือทำผลิตภัณฑ์เพื่อคนในครอบครัว ก็เริ่มมาจากที่ปีเตอร์เขาแพ้ เขาเป็นทั้งภูมิแพ้แล้วก็ไซนัส ซึ่งผลิตภัณฑ์เราก็มีการเอาไปทดสอบการแพ้และการระคายเคืองด้วย การทดสอบก็จะใช้ผู้ทดสอบประมาณ 40-50 คน โดยเอาผลิตภัณฑ์ไปสัมผัสที่ผิวหนัง ถ้าภายใน 1-3 วันไม่เกิดการระคายเคืองก็จะถือว่าผ่าน ช่วงทดสอบก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน อันนี้มันเป็นการทดสอบที่เป็นมาตรฐานเอเชีย และเราก็มีส่งไปทดสอบที่สถาบันที่ต่างประเทศด้วย มันจะมีมาตรฐานของทางอเมริกาที่เรียกว่า T.R.U.E. Test ก็คือเขาพบแล้วว่าสารประมาณ 26 สารเป็นสารที่อาจจะก่อให้เกิดภูมิแพ้ สารพวกนี้เราก็จะไม่เอามาใช้ในผลิตภัณฑ์ของ PiPPER คือวิธีการเลือกวัตถุดิบของ PiPPER ก็คือหนึ่งต้องไม่มีสารเคมี สองต้องไม่มีสารก่อภูมิแพ้ตาม T.R.U.E. Test ส่วนอีกอันคือเรื่องความสะอาด คือน้ำยาซักผ้านี่ยากสุด อย่าลืมว่าผ้าคราบมันเยอะ แล้วคือความขาวมันเป็นอะไรที่ไม่ definite คือตอนนั้นมันยังไม่มี R&D ด้วยซ้ำ เราก็พยายามไปหาว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรที่มันจะชี้ได้ว่าอันไหนสะอาดกว่ากัน ตอนนั้นเราถึงขั้นไปหา colorimeter คือเครื่องวัดสีในการที่จะดูความขาว กว่าจะลงตัวก็ทดลองอยู่นานเหมือนกันค่ะ”
ลดของเสียในการผลิตไม่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม
“เราพยายามจะทำให้มัน zero waste ที่สุด อย่างสับปะรดเราใช้ทุกส่วนเลยนะคะ ตั้งแต่เปลือกเราใช้หมดเลย ในกระบวนการผลิตหลังจากหมักสับปะรดได้คุณภาพปุ๊บเราก็จะมีการกรอง เราเอาน้ำหมักไปใช้ต่อ ส่วนพวกเศษที่กรองมาได้เราก็เอาไปทำให้แห้งแล้วเอาไปเป็นอาหารสัตว์เพราะมันยังมีจุลินทรีย์ที่ดีอยู่เยอะ ส่วนน้ำที่เกิดจากการใช้ล้างสับปะรดอะไรต่างๆ เราก็เอาไปลงบ่อที่เป็นการบำบัดธรรมชาติ เสร็จแล้วเราก็เอาน้ำในบ่อมารดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้เรายังได้ส่งตัวผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่มของเราไปที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อจะดูว่าผลิตภัณฑ์ของเราย่อยสลายตามธรรมชาติได้เป็นอย่างไรบ้าง ก็พบว่าของเราสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติมากกว่า 90% ได้ภายใน 28 วันค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตภัณฑ์ของเราไม่มีสารเคมีค่ะ”
การต่อยอดในสเต็ปต่อไป
“ถ้าเป็นบริษัทอื่นเขาอาจจะมีธงว่าปีนึงต้องออกสินค้าใหม่กี่ชิ้น แต่ด้วยความเป็น PiPPER กว่าเราจะออกอะไรแต่ละทีเราจะมี requirement เยอะมาก คือเราอยากได้ของดีมีคุณภาพแต่ว่าต้นทุนก็ต้องได้ เลยเป็นเหตุว่ากว่าจะออกอะไรมาต้องใช้เวลานิดนึง ทาร์เก็ตลูกค้ากลุ่มแรกเราเริ่มจากกลุ่มแม่ ต่อมาเราก็ออกผลิตภัณฑ์โฮมแคร์โดยกลุ่มเป้าหมายของเราก็คือคนที่ทำความสะอาดบ้านด้วยตัวเอง กลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพ กลุ่มคนรักสิ่งแวดล้อม ท้ายสุดก็เป็นกลุ่มคนที่เลี้ยงสัตว์ เพราะเดี๋ยวนี้คนเลี้ยงสัตว์รักเหมือนลูก แล้วอย่าลืมว่าสัตว์กินอยู่กับพื้นเลย ฉะนั้นพวกสารเคมีทั้งหลายคือเขาสัมผัสโดยตรง ตอนที่เราออกน้ำยาถูพื้นออกมาก็มีคนเขียนมาขอบคุณเราว่าใช้ของเราแล้วผิวหนังสัตว์เลี้ยงเขามันดีขึ้น ซึ่งเดี๋ยวในช่วงครึ่งปีหลังก็จะได้เห็นสินค้าใหม่ของ PiPPER ทยอยออกมาอีก ตอนนี้ขออนุญาตอุบไว้ก่อน แต่ว่าก็จะเป็นสินค้าที่คนมองหา แล้วก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งหวังว่าอยากจะเห็นของที่เป็นธรรมชาติในสินค้ากลุ่มนี้ค่ะ”
www.praphansarn.com/1987/PiPPER_STANDARD